อาการป่วยและการตาย ของ ออมสิน (เต่า)

ออมสินได้กินเหรียญที่ถูกนักท่องเที่ยวโยนลงไปในบ่อ ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้โชคดีและอายุยืน จากการกินเหรียญสะสมกันตลอด 10 ปี ทำให้ออมสินมีอาการกระดองส่วนท้องแตกและติดเชื้ออย่างรุนแรงจากการที่กระเพาะขยายใหญ่เกินไป เมื่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ สัตหีบ พบว่ามันมีอาการไม่ว่ายน้ำ จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[2]

เบื้องต้นมีความเข้าใจว่าออมสินป่วยจากเนื้องอก แต่หลังจากการทำซีที สแกน พบว่าเกิดจากเหรียญที่กินเข้าไปสะสมอยู่ในกระเพาะอาหารจนกลายเป็นก้อนใหญ่ ทีมสัตวแพทย์ผู้รักษาใช้เวลานาน 7 ชั่วโมงในการผ่าตัด เมื่อเปิดกระเพาะออกมาจึงพบกับเหรียญหลายสกุลเงินรวม 915 เหรียญ หนัก 5 กิโลกรัม ใช้เวลาในการคีบเหรียญทั้งหมดออกเป็นเวลา 4 ชั่วโมง สภาพของเหรียญที่ถูกออมสินกินเข้าไปนั้น หน้าเหรียญเรียบเป็นสีดำ เนื่องจากการกัดกร่อนของน้ำกรดภายในกระเพาะอาหาร ทำให้สารที่ถูกกัดกร่อนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและไปสะสมยังตับ[1]

สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ กล่าวว่าหลังจากการผ่าตัดแล้ว ออมสินมีอาการดีขึ้นอย่างทันที คือ หายใจคล่อง และแข็งแรงขึ้นได้ใช้เวลาเพียง 2 วันหลังการผ่าตัด และมีกำหนดเริ่มรักษาอาการพิษโลหะในตับต่อเมื่อแผลหายดีแล้ว ซึ่งคาดว่าใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ส่วนการกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติต้องใช้เวลาทำกายภาพบำบัดเป็นเวลาเกือบครึ่งปี เนื่องจากน้ำหนักตัวตอนกลืนเหรียญเข้าไปได้ปรับให้ปอดในขึ้นมาด้านบน ทำให้ลอยตัวแล้วจมน้ำไม่ได้[1]

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2560 ออมสินมีอาการซึมและปวดท้อง จึงตรวจร่างกายอย่างละเอียด พบว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนจากลำไส้บิดตัวรัดกัน 3 ปม ซึ่งคาดว่าอาจมาจากการพยายามฟื้นตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ในช่องท้องที่มีพื้นที่มากขึ้นและมีแก๊สมากขึ้นจนปวดท้อง ทีมศัลยแพทย์และสัตวแพทย์สัตว์น้ำจึงได้ทำการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อแก้ปมลำไส้และลดปริมาณแก๊สลง สัตวแพทย์หญิง นันทริกา กล่าวว่า อาการของออมสินน่าเป็นห่วง หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้วต้องให้น้ำเกลือและพักอยู่ในไอซียู อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้[3] จนวันที่ 20 มีนาคม 2560 ออมสินมีอาการโคม่า ไม่ตอบสนอง มีการให้น้ำเกลือและออกซิเจน พร้อมกับมีแพทย์เฝ้าดูตลอด 24 ชั่วโมง แต่เดิมสัตวแพทย์หญิง นันทริกา ระบุว่า ตั้งใจจะพาออมสินกลับไปที่สัตหีบ เพราะเคลื่อนไหวได้ดี เริ่มกินอาหารเองได้ ว่ายน้ำเองได้ แต่ในที่สุดกลไกในร่างกายเต่าไม่สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับภาวะภายหลังการผ่าตัดได้ ภาวะลำไส้ติดในเต่ามีความหวังค่อนข้างน้อย หากเกิดขึ้นภายใน 6-8 ชั่วโมง โอกาสรอดมีน้อยมาก แต่ออมสินผ่านมาได้นานกว่านั้น[4]

ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2560 อาการโดยรวมของออมสินยังทรุดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการหายใจลดลง ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองใด ๆ แต่ยังลืมตาอยู่ และยังมีการให้น้ำเกลือและออกซิเจน และดูอาการอย่างใกล้ชิด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำระบุว่า ออมสินมีโอกาสรอดชีวิตน้อยลง นอกจากลำไส้พันกันอย่างรุนแรงหลายจุด ทำให้เกิดน้ำและแก๊สในช่องท้องจำนวนมากแล้วนั้น สารโลหะจากเหรียญที่สะสมยังไปทำลายภูมิคุ้มกันของออมสิน จนเกิดอาการแทรกซ้อนตามมา[5]

จนกระทั่งเวลา 10:10 น. ของวันที่ 21 มีนาคม 2560 ออมสินได้ตายลง เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุเกิดจากร่างกายอ่อนแอ และมีนิกเกิลซึ่งเป็นสารเคลือบเหรียญอยู่ในกระแสเลือดมากถึง 200 เท่า ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำและกระทบกับระบบกล้ามเนื้อและหัวใจ[6] ทีมสัตวแพทย์จะส่งต่อให้ฝ่ายพยาธิ คณะแพทยศาสตร์ ทำการพิสูจน์อย่างละเอียด[7]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ออมสิน (เต่า) http://news.ch7.com/detail/218572/%E0%B8%97%E0%B8%... http://news.ch7.com/detail/219838/%E0%B9%80%E0%B8%... http://news.ch7.com/detail/220052/%E0%B8%AB%E0%B8%... http://news.ch7.com/detail/220117/%E0%B9%80%E0%B8%... http://www.posttoday.com/social/general/486216 http://news.sanook.com/2187158/ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1... http://www.thairath.co.th/content/891870 http://shows.voicetv.co.th/bizfeed/468495.html http://www.nationtv.tv/main/content/social/3785396...